Tuesday, December 9, 2014

Integration of review to star rating for hotels


องค์กรการท่องเที่ยวโลกแนะนำให้บูรณาการความเห็นของลูกค้าบนสื่อออนไลน์สำหรับการสร้างระบบการจัดประเภทโรงแรม


โดย Josiah Mackenzie - 03 November 2014


              โดยทั่วไปแล้วนั้น ระบบการจัดประเภทโรงแรมมักใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเป็นหลัก และความคิดเห็นจากแขกนั้นมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าบริการของโรงแรมนั้นเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ การเอาความเห็นของแขกมาบูรณาการเข้ากับการจัดประเภทโรงแรมนั้นเท่ากับเป็นการสร้างสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ นั่นคือโรงแรมก็จะพยายามสร้างประสบการณ์ และให้บริการที่ดีที่สุดกับลูกค้า ซึ่งก็จะทำให้เกิดโอกาสที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการโรงแรมอีก

              จากรายงายฉบับล่าสุดขององค์กรการท่องเที่ยวโลกที่จัดทำโดยศาสตราจารย์ คริส แอนเดอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล นั้นได้วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบ และประโยชน์จากการนำข้อคิดเห็นของแขกที่ให้ไว้ในช่องทางออนไลน์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดประเภทโรงแรม ข้อคิดเห็นจากแขกที่เขียนไว้บนช่องทางออนไลน์หรือ Review นั้นมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวอย่างมาก ทั้งนี้เพราะนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นทุกทีที่ใช้ข้อคิดเห็นจากแขกคนอื่นๆ ในการตัดสินใจซื้อของตนเอง ทั้ง Review และการจัดประเภทของโรงแรมนั้นเป็นส่วนสำคัญ และต่างเสริมกันในการช่วยการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว การศึกษาฉบับนี้ได้ศึกษาแนวทางการผสานทั้งสองส่วนเพื่อช่วยให้นักเดินทางวางแผนการเดินทางของตนเองได้ง่ายขึ้น ทั้งสำหรับนักเดินทาง อุตสาหกรรมโรงแรม องค์กรที่จัดประเภท และการให้ดาวโรงแรม และตัวแทนจำหน่าย จากการศึกษาพบว่า ผู้บริหารโรงแรมส่วนใหญ่ที่สำรวจคิดว่าการผสานข้อคิดเห็นหรือ Review จากลูกค้าเข้ากับการจัดประเภทโรงแรมนั้นสำคัญ หรือสำคัญมากที่สุด (Source: UN World Tourism Organization and Cornell Center for Hospitality Research) กรอบแนวคิดในการบูรณาการนี้มีการคำนึงถึงการใช้ Review ในวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ในทางหนึ่งนั้น review ก็สะท้อนให้เห็นถึงระดับความสามารถของโรงแรมในการตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้บางครั้งโรงแรม 2 ดาว อาจได้คะแนนการรีวิวจากแขกสูงกว่า 4 ดาวเป็นต้น ในทางตรงกันข้ามระบบการจัดประเภทโรงแรมโดยทั่วไปก็ใช้แต่การตรวจสิ่งอำนวยความสะดวกเท่านั้น

              กรอบการศึกษาที่ได้นำเสนอนี้ไม่ได้เป็นการทดแทนการจัดอันดับดาว แต่เป็นการปรับปรุงการจัดประเภทโรงแรมให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการใช้ข้อคิดเห็นที่เป็นบวกจากลูกค้า นั่นคือโรงแรมก็จะมีแรงจูงในในการให้บริการที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แก่ลูกค้าซึ่งก็จะเป็นผลดีเพราะลูกค้าพอใจในบริการ และจะกลับมาใช้บริการของโรงแรมนั้นๆอีก ดังนั้นการรวมข้อคิดเห็นจากแขกไว้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดอันดับดาวโรงแรมนั้นเป็นกรอบแนวคิดที่ทั้งฉลาด และสร้างผลกำไรให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง จากการวิจัยอื่นๆได้ยืนยันตรงกันว่าความต้องการซื้อและความสามารถของโรงแรมในการเรียกราคานั้นขึ้นกับชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ของโรงแรมนั้นๆ ดังนั้นการนำ review มาเป็นส่วนหนึ่งของ star rating นั้นเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งกำไร และคุณภาพบริการ

The return of Travel Agencies


เพราะเหตุใดนักท่องเที่ยวจึงหันกลับมาใช้บริการตัวแทนท่องเที่ยวอีก



              ประเด็นว่าตัวแทนท่องเที่ยวหรือ Travel Agents จะเป็นอาชีพที่หายไปจากวงการการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่ถกเถียงมานาน และสำหรับผู้เขียนแล้วนั้นเห็นว่าตัวแทนท่องเที่ยวเป็นอาชีพ และธุรกิจที่ไม่จางหายไป

              เนื่องจากมีเครื่องมือในการวางแผนและหาข้อมูลการท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องมีสำคัญในการทำงานของตัวแทนท่องเที่ยว เครื่องมือเหล่านี้ทำให้การวางแผนการท่องเที่ยวครบครันมากขึ้น และง่ายขึ้นสำหรับผู้เดินทาง และการได้ข้อมูลจำนวนมากขึ้นนี้ก็นำไปสู่การตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเปรียบเทียบสินค้าและบริการ ดังนั้นเทคโนโลยีทำให้นักท่องเที่ยววางแผนและซื้อผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

              การวิเคราะห์อาจมองได้สองทาง ทางแรกมีคนจำนวนหนึ่งมองว่าตัวแทนท่องเที่ยวหมดความจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวในการวางแผน และ ซื้อผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวและการบริการ อีกทางหนึ่งก็มองว่าตัวแทนท่องเที่ยวจะไม่มีวันหายไปจากวงการการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตจำนวนมากแต่ก็ต้องอาศัยตัวแทนในการแนะนำและปิดการขายอยู่ดี

              เหตุที่กล่าวว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาใช้บริการตัวแทนนำเที่ยวคือตัวแทนท่องเที่ยวรู้ข้อมูล และมีเครือข่ายต่างๆมากกว่านักท่องเที่ยว รู้กิจกรรมส่งเสริมการขายดีกว่านักท่องเที่ยว และมีประสบการการวางแผนการท่องเที่ยวมากกว่า และถึงแม้ว่าตัวแทนท่องเที่ยวจะเก็บค่าบริการในการจองและให้ข้อมูลประมาณร้อยละ 11-12 ก็ตาม จำนวนนี้ก็ยังต่ำกว่าราคาที่นักท่องเที่ยวจัดการวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเองอยู่ดี

              นอกจากนั้นปัจจุบันนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปก็เริ่มจะเข้าใจแล้วว่ายังต้องอาศัยบริการของตัวแทนท่องเที่ยวอยู่ดีเพราะความชำนาญของตัวแทนท่องเที่ยว จริงอยู่ว่าบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวที่มีหน้าร้านกำลังปิดตัวลงจำนวนมาก และตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ หรือ Online Travel ก็กำลังได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปเนื่องจากตัวแทนท่องเที่ยวมักมีความชำนาญมากกว่า

              การที่ตัวแทนท่องเที่ยวแบบมีหน้าร้านจะปิดตัวลงจำนวนมาก และเป็นเวลาเดียวกันกับที่ OTAs กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้นการที่จะกล่าวว่าธุรกิจตัวแทนท่องเที่ยวกำลังจะหายไปจากวงกาลจึงฟังดูสมเหตุสมผล

              คำกล่าวเช่นว่านี้เป็นจริงอยู่บางส่วนแม้ว่าธุรกิจตัวแทนท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่งก็ตามแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้แข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่อยู่รอดก็ยังสามารถอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ดี ตัวแทนท่องเที่ยวที่สามารถให้บริการที่ครบถ้วน ใส่ใจรายละเอียด เอาใจใส่ลูกค้า ก็ระรู้ว่าจะใช้อาวุธอะไรในการสู้กับเทคโนโลยีที่มองไม่เห็นกันกับลูกค้าได้

              การเจริญเติบโตของ OTAs นั้นทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า การรับข้อมูลเกินพอดี (Information Overload) ซึ่งแม้ว่าจะมีการให้ความสำคัญกับคำพูดปากต่อปากบนสื่อออนไลน์มากขึ้นๆก็ตาม แต่คำแนะนำเหล่านั้นก็ไม่ได้น่าเชื่อถือเสมอไป การให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเองหรือ Review นั้นอาจมีประโยชน์ในการให้ภาพใหญ่เกี่ยวกับโรงแรม จุดหมายปลายทาง หรือสถานที่ท่องเที่ยว ปัจจุบันนั้นเว็ปไซท์ต่างมีจำนวนข้อมูล และ Review ต่างๆมากจนเกินไป และไม่สามารถให้ข้อมูลในภาพรวมได้ นอกจากนั้นการให้คะแนน หรือดาวจากผู้เข้ามา Review นั้นยังมักไม่สามารถเชื่อถือได้

              นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังได้เห็นตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โรงแรม ร้านอาหาร หรือจุดหมายปลายทางเข้ามาเขียน Review เสียเองเพื่อให้เกิดการให้คะแนนที่สูงเกินจริง และนักท่องเที่ยวเริ่มรู้สึกว่าไม่แน่ใจถึงความน่าเชื่อถือของ Review เล่านั้น ดังนั้นตัวแทนท่องเที่ยวจึงเป็นเสมือนผู้เชี่ยวชาญที่ขุดข้อมูลที่มีอยู่มากอย่างล้นเกินเพื่อหาความจริงที่น่าเชื่อถือที่สุดในการวางแผนการท่องเที่ยว

6 Facts from Google Survey


ข้อเท็จจริง 6 ประการที่ควรทราบจากการศึกษา “The 2013 Travel Study” ของ Google



 

              ถึงแม้ว่าการนำเสนอเกี่ยวกับการศึกษาเรื่อง The 2013 Travel Study จะผ่านไปแล้วแต่ก็ควรกลับมาพิจารณาซ้ำอีกทั้งนี้เพราะมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการตลาดการท่องเที่ยวและการบริการ ตามที่ Google ได้แจ้งไว้ในไสลด์ที่ 2 ว่าการศึกษาครั้งนี้มุ่งเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางเพื่อธุรกิจ ข้อเท็จจริง 6 ประการต่อไปนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในปีที่ผ่านมาซึ่งธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการบริการควรพิจารณาว่าตนเองได้ปรับตัวไปอย่างไรบ้าง เช่นการเข้าถึงลูกค้า หรือการหาประโยชน์ทางธุรกิจจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปนี้

1)         นักท่องเที่ยวร้อยละ 65 จองโรงแรม และผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวอื่นๆจากผู้ประกอบการโดยตรงมากกว่าตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agencies- OTAs) ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11 จากปี ค.ศ. 2012

ข้อเท็จจริงนี้บอกอะไรแก่โรงแรม และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ ข้อเท็จจริงนี้ส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ที่เว็ปไซท์ของโรงแรม และสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวจะสร้างผลกำไรให้แก่องค์กรได้มากขึ้น และลดความสำคัญของช่องทางการจัดจำหน่ายที่ได้กำไรน้อยกว่า (เพราะไม่ต้องเสียค่า commission ให้กับ OTAs) เมื่อนักการตลาดของโรงแรมกล่าวว่าให้ปรับช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังช่องทางที่มีกำไรสูงกว่านั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่พวกเขากำลังพยายามบอก ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ขององค์กรก็ได้ ซึ่งก็แน่นอนว่าข้อเท็จจริงนี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสของโรงแรมในการสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายทางการตลาด แต่ทางสถานประกอบการเองก็ต้องมั่นใจว่าเว็ปไซท์ของตนเองนั้นทันสมัย และติดอันดับการค้นหาด้วย Search Engine หรือ High Search Ranking ทั้งนี้เพื่อให้ผู้วางแผนการเดินทางสามารถค้นหาเว็ปไซท์ของสถานประกอบการเจอในอันดับต้นๆ ข้อเท็จจริงที่ว่านักท่องเที่ยวชอบที่จะจองโรงแรม และบริการอื่นๆตรงกับเว็ปไซท์ของสถานประกอบการนั้น เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงผลของความพยายามของโรงแรม และสถานประกอบการเองร่วมกับหุ้นส่วนธุรกิจอินเตอร์เน็ตที่ทำมาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการแทรกแซงการหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมผ่าน Search Engines ทั้งหลาย เช่นการเน้นที่แนวคำ (Themes) มากกว่าคำหลัก (key words) และการออกแบบเว็ปไซท์ที่ใช้ง่ายและน่าสนใจ

2)         ราคาเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งในการเลือกที่พัก

โรงแรมและสถานประกอบการอาจถูกนำมารวมไว้ หรือตัดออกไปจาการเลือกของลูกค้าเนื่องจากช่วงราคาและงบประมาณที่ลูกค้าตั้งไว้ ประเภทของที่พัก และที่ตั้ง หากที่พักหรือโรงแรมใดประเภทที่ลูกค้าต้องการและตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมแล้วนั้น โรงแรมนั้นๆก็จะสามารถควบคุมราคาของตนเองได้ระดับหนึ่ง โรงแรมควรเปรียบเทียบราคาของตนกับโรงแรมคู่แข่งแล้วตั้งคำถามกับตนเองว่าได้ตั้งราคาอย่างสามารถแข่งขันได้หรือยัง โรงแรมตั้งราคาต่ำกว่าราคาที่ให้กับ OTAs หรือไม่ หากสูงกว่าลูกค้าจะเลือกจองกับ OTAs ทันที ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงสัญญาที่มีกับ OTA ในการกระจายสินค้าด้วย โรงแรมมีการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการขายในหน้า Low  และ Shoulder seasons หรือไม่ มียุทธวิธีด้านราคามากมายที่สามารถปรับปรุงผลประกอบการได้

3)         ร้อยละ 60 ของแขกกลุ่มนักท่องเที่ยว และร้อยละ 53 ของแขกกลุ่มธุรกิจหาข้อมูลผ่าน Search Engines

ข้อเท็จจริงนี้ไม่น่าแปลกใจอย่างใด แต่ก็ยังเป็นจุดที่นักการตลาดควรเน้นอยู่ดี พื้นฐานของประเด็นนี้คือไม่ว่าเว็ปไซท์จะสวยเพียงใดแต่ถ้านักท่องเที่ยวหาไม่เจอก็ไม่มีประโยชน์ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวที่อาจใช้คำในการหาต่างกันแต่ก็เจอเว็ปไซท์ของโรงแรมในอันดับต้นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Search Engine หลักๆเช่น Google หรือ Bing ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 2 ใน 3 นอกจากนั้นการจัดการ Search Engine Optimization หรือการจัดการให้เว็ปไซท์อยู่ในหน้าแรกของ Search Engine เพียงครั้งเดียวก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีประสิทธิภาพเสมอไป ควรมีการปรับอยู่เสมอๆ และใช้ลูกเล่นใหม่ๆให้แน่ใจว่าเว็ปไซท์ของสถานประกอบการจะอยู่ในหน้าแรกของผลการหาข้อมูลผ่าน Search Engine เสมอ

4)         ร้อยละ 42 ของนักท่องเที่ยว และร้อยละ 55 ของผู้เดินทางด้วยเหตุผลทางธุรกิจอ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและแขกคนอื่นๆ  

จากความเห็นของผู้ดำเนินการศึกษานั้น ตัวเลขที่ผู้เดินทางใช้ข้อมูลจากการรีวิว หรือากรให้ความเห็นจากลูกค้าเดิมนั้นน่าจะสูงกว่านี้ นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับข้อมูลจากลูกค้าที่มีประสบการณ์ตรงมากกว่าข้อมูลประเภทการโฆษณาจากสถานประกอบการ สิ่งที่สถานประกอบการต้องทำก็คือการสอดส่องว่าลูกค้าได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนไว้อย่างไรบนอินเตอร์เน็ตช่องทางต่างๆ และต้องพยายามตอบทุกความเห็นอย่างมีชั้นเชิง มีศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนช่องทางที่เป็นที่นิยมเช่น Trip Advisor และ Yelp ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เห็นว่าสถานประกอบการมีความจริงใจ และใส่ใจจริงๆ

5)         ร้อยละ 25 ของนักท่องเที่ยวจองโรงแรม และบริการด้านการท่องเที่ยต่างๆผ่านโทรศัทพ์อัจฉริยะ

สิ่งที่ทางโรงแรมและสถานประกอบการต้องตรวจสอบคือ โรงแรม และสถานประกอบการมีเว็ปไซท์ที่ออกแบบมาสำหรับโทรศัพท์อัจฉริยะหรือไม่ และหากมี โปรแกรมที่ใช้ตอบสนองกับระบบปฏิบัติการต่างๆหรือไม่ หากสถานประกอบการยังนอนใจอยู่ว่านักท่องเที่ยวเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่ใช้โทรศํพทย์อัจฉริยะจองบริการด้านการท่องเที่ยว จากร้อยละ 25 จะกลายเป็นร้อยละ 50 ก่อนที่จะรู้ตัวเสียอีก สถานประกอบการต้องมีโปรแกรมการจัดการเว็ปไซท์สำหรับโทรศํพท์อัจฉริยะที่ใช้ง่าย และสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกแก่นักท่องเที่ยวประกอบการจัดสินใจซื้อ นอกจากนั้นการเปลี่ยนหน้าจอของเว็ปไซท์ควรไม่มีรอยต่อ และนักท่องเที่ยวต้องสะดุดในการรับข้อมูลระหว่างการตัดสินใจซื้อ

6)         ร้อยละ 51 ของนักท่องเที่ยว และร้อยละ 69 ของนักเดินทางเพื่อธุรกิจดูวิดิโอบนอินเตอร์เน็ต

นักท่องเที่ยวนั้นมีวิธีการหลากหลายในการหาและเสพข้อมูลบนอินเตอน์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิดิโอ นักท่องเที่ยวนั้นไม่ได้เพียงแต่ดูวิดิโอ 30 วินาทีระหว่างการวางแผนการเท่องเที่ยวเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวใช้ข้อมูลจากวิดิโอตลอดทั้งกระบวนการ ทั้งการตัดตัวเลือก การวางแผนการจอง โรงแรมและผู้ประกอบการพึงทราบว่าภาพนั้นสามารถแทนคำพูดได้ไม่จำกัด และวิดิโอหรือภาพเคลื่อนไหวทำได้มากกว่านั้นเสียอีก โรงแรมและสถานประกอบการมีบัญชี youtube หรือยัง แขกสามาถ upload วิดิโอเกี่ยวกับสถานประกอบการได้หรือไม่ การมีวิดิโอที่สวยและน่าสนใจทำให้เพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จมากขึ้น

Trends from Lonely Planet


โลนลี่แพลเน็ทเผยอนาคตด้านการท่องเที่ยว



 

              โลนลี่แพลเน็ท (Lonely Planet) และสมาคมการขนส่งทางอากาศนานาชาติ หรือ IATA ได้ร่วมกันในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปีของการบินพาณิชย์ โดยเผยการทำนายอนาคตของการท่องเที่ยว 10 ประการ จากการเปิดเผยของ Lonely Planet นั้น นักท่องเที่ยวจะมีความต้องการสูงขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวที่ทำให้ตนเองตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริง (unplugged travel) และสามารถหนีจากภาระ และโลกที่สับสนอย่างลับๆ ในขณะที่โลกสมัยใหม่ยังเติบโตไป (การทำนายทั้ง 10 ประการจะได้มีการกล่าวถึงด้านล่าง)

              จากข้อมูลของ Lonely Planet นั้นการเดินทางท่องเที่ยวจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากกว่าที่จะเป็นโอกาสพิเศษ ข้อมูลจากกลุ่มการขนส่งทางอากาศ (Air Transport Action Group- ATAG) คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารเครื่องบิน 6.6 พันล้านคนทั่วโลกภายในปี 2032 ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปี จากปี 2014 การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินพาณิชย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนการคิดของนักท่องเที่ยว และLonely Planet เองก็ได้กล่าวว่าแนวคิดเกี่ยวกับการเดินทางทางอากาศในฐานะที่เป็นสิ่งพิเศษจะหมดไป และแทนที่ด้วยการคิดว่าการเดินทางทางอากาศเป็นตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น

              Lonely Planet ยังได้ทำนายว่าการท่องเที่ยวแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือ Green Travel จะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นก้าวที่ยั่งยืนของการพัฒนาการด้านการท่องเที่ยว โดยกล่าวว่าร้อยละ 70 ของนักเดินทางคาดหวังให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและการบริการแสดงออกซึ่งข้อผูกพันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และงานอาสาสมัครในต่างประเทศ อุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ได้ตั้งเป้าหมายในการเจริญเติบโตแบบเป็นกลางในการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon neutral growth) และการลดทอนการแผ่ขยายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่ง

              การหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตยังคงเป็นลักษณะพื้นฐานประการสำคัญของนักท่องเที่ยวในอนาคต แต่การหาข้อมูลเชิงลึก และข้อมูลพิเศษต่างๆนั้นยังคงต้องการจากการบอกต่อแบบตัวต่อตัว หรือคำแนะนำจากบุคคลท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญจาก Lonely Planet เสนอว่าข้อมูลจากแหล่งข้อมูล online นั้นยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการวางแผนการท่องเที่ยว แต่พบว่านักท่องเที่ยวสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับคำแนะนำจากคนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นจากคนขับแท็กซี่ เจ้าของร้านกาแฟ อย่างทีไม่เคยเป็นมาก่อน 

              นักท่องเที่ยวยังตระหนักรู้ถึงความกดดันจากชีวิตสมัยใหม่ ดังที่ Lonely Planet ได้แนะว่าจะเกิดการขายตัวของการท่องเที่ยวที่ตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริง หรือ Unplugged Travel ซึ่งไม่มีการติดต่อจากโทรศัพท์มือถือ ไม่มีการส่งข้อความอิเล็กโทรนิกส์ (e-mail) และนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับจุดหมายปลายทางได้อย่างเต็มที่ และลืมความจำเจ และความกดดันในชีวิตประจำวันไปเสียได้

              การทำนายของ Lonely Planet ยังชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของผู้โดยสารเครื่องบินที่เน้นความประหยัดซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเส้นทางการบินไปยังที่ต่างๆจำนวนมากขึ้นทำให้สายการบินต่างปรับปรุงการสรรค์สร้างประสบการบนเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสาร เมื่อการแข่งขันและการเปรียบเทียบราคา และคุณภาพของเที่ยวบินต่างๆเพิ่มมากขึ้น อนาคตของเที่ยวบินชั้นประหยัดก็ดูเหมือนจะสดใสขึ้น บางทีก็อาจจะมีเที่ยวบินชั้นประหยัดที่มีที่นั่งที่สามารถนอนราบได้ อาหารในเที่ยวบินคุณภาพสูง และบริการบนเครื่องบินที่หรูหราขึ้น

              เทคโนโลยีจะมีบทบาทำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเดินทางทางอากาศ โดยสายการบินต่างๆให้บริการโดยไม่ผ่านกระดาษ การบูรณาการโทรศัพทย์อัจฉริยะเข้ากับการใช้บริการสายการบินของผุ้โดยสาร ในเร็วๆนี้เทคโนโลยีจะสามารถแนะให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางได้ตามสภาพอากาศ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดหมายปลายทางซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งตรงถึงโทรศัพท์ของผู้โดยสารระหว่างเที่ยวบินซึ่งทำให้เกิดประสบการณ์เฉพาะสำหรับผู้โดยสานแต่ละคนได้

 

              สนามบินก็จะมีการเปลี่ยนรูปแบบไปเนื่องจากที่ให้บริการผู้โดยสานขาออก (Departure Lounge) จะกลายเป็นส่วนสำคัญของการเดินทางทุกๆประเภท สนามบินที่มีสปา แกลเลอรี่รูปภาพ หรือแม้กระทั่งโรงหนังจะเป็นสิ่งพื้นฐานของสนามบินเกือบทุกๆแห่ง Lonely Planet แนะว่า เราจะสามารถคาดหวังกิจกรรมนันทนาการที่มากขึ้น และใหญ่ขึ้นในสนามบินได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งอาจจะมีแม้กระทั่งรถไฟเหาะตีลังกาได้

              การคาดการณ์ยังกินความไปถึงการเปลี่ยนแปลงของประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับโรงแรม และกิจกรรมพิเศษ(events) ด้วย โดยนักท่องเที่ยวจะสามารถท่องโลกเพื่อเสาะหาประสบการณ์ที่ประทับใจและต้องการได้เห็นหรือสัมผัสกับประสบการณ์เหล่านั้นครั้งหนึ่งในชีวิต

              การศึกษาของ Lonely Planet นี้ได้รับทุนสนับสนุนเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งเที่ยวบินพาณิชย์ ผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการบินพาณิชย์ในช่วง 100 ปีแรกได้ และจะรู้ว่าการบินได้เปลี่ยนแปลงโลกรอบตัวของเราอย่างไร และสามารถมองเห็นลางๆว่าอนาคตการบินจะเป็นอย่างไรด้วย

              การคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตการบิน 10 ประการมีดังนี้

1)         การเดินทางไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในโอกาสพิเศษ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากชีวิตประจำวัน

2)         จะเกิดกระแสการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะเที่ยวบินราคาถูกลงอย่างเป็นปรากฎการณ์ และมีการบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับปฏิทินการท่องเที่ยวทั่วโลก

3)         จะมีเที่ยวบินในฝันซึ่งเกิดจากการแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างเส้นทางการบิน และสายการบินที่ทำให้ต่างสร้างสรรค์ประสบการณ์การบินแก่นักท่องเที่ยว

4)         จะมีวิวัฒนาการของสนามบิน ความสำเร็จของสปาในสนามบิน แกลเลอรี่ศิลปะ และพื้นที่สีเขียวทำให้เกิดกาขยายตัวของการให้บริการกิจกรรมนันทนาการต่างๆในสนามบิน

5)         การขยายตัวของโรงแรมที่ให้ประสบการณ์เฉพาะแก่นักท่องเที่ยว โดยจะมีการขยายตัวของโรงแรมที่ให้บริการที่เป็นพิเศษ ไม่ซ้ำใครแก่นักท่องเที่ยว

6)         จะมีการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และฉลาดมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวสมัยใหม่จะใส่ใจกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทุกๆขั้นตอนของการวางแผนการเดินทาง

7)         การวางแผนการเดินทางจะอยู่ภายใต้ฝ่ามือของนักท่องเที่ยวผ่านโทรศัพท์อัจฉริยะ ที่ให้ข้อมูลที่จำเป็น และเฉพาะเจาะจงกับผู้เดินทางแต่ละคน

8)         จะเกิดการขยายตัวของการท่องเที่ยวแบบการตัดขาดจากโลกของความเป็นจริง (Unplugged Travel) ทั้งนี้เพราะการหนีขาดจากโลกของความเป็นจริงจะเป็นสิ่งที่คนในโลกสมัยใหม่ต้องการมากขึ้น โรงแรมในที่ห่างไกลจะเริ่มหาจุดขายของตนเองเช่นการไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต และสัญญาณโทรศัทพ์มือถือ

9)         เกิดการกลับมาพึ่งพิงข้อมูลเชิงลึกจากบุคคล และชุมชนท้องถิ่น ณ จุดหมายปลายทาง ทั้งนี้เพราะนักท่องเที่ยวกระหายข้อมูลเชิงลึกที่เป็นต้นตำรับ

10)    เกิดกระแสการท่องเที่ยวเสมือนจริง (Virtual Travel) ซึ่งนักท่องเที่ยสสามารถวางแผนการท่องเที่ยวของตนเองอย่างสบายผ่านคอมพิวเตอร์ และมองเห็นจุดหมายปลายทางจริงๆผ่านเทคโนโลยี Google Streetview ก่อนการตัดสินใจท่องเที่ยวจริง

Do you think it would work?


รัฐบาลทหารในประเทศไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้กฎอัยการศึก


เขียนโดย เจมส์ กอยเดอร์  หนังสือพิมพ์ The Telegraph ประเทศอังกฤษ ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2557

              จากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของไทย การยึดอำนาจของทหารในราชอาณาจักรไทยนั้นเป็นการประกันความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

              การรัฐประหารโดยกองทัพของไทยนั้นเป็นการสร้างจุดจบอย่างกระทันหันให้แก่การประท้วงทางการเมืองที่มีต่อเนื่องยาวนาน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย

              แต่กระนั้นเจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่า กฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ก่อนหน้าการรัฐประหารซึ่งแม้ว่าจะเป็นการปูทางให้เกิดการรัฐประหารก็ตามแต่ก็อาจเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้ด้วย

              จากการสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และหนังสือพิมพ์ข่างสด นั้นนายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังรณรงค์ทางการตลาดภายใต้หัวข้อ 24 Hours Enjoy Thailand เพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศมายังประเทศไทย

              นายธวัชชัยฯ ยังได้กล่าวต่อไปว่า กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจแก่รัฐอย่างล้นเหลือ และห้ามให้มีการชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คนนั้นเป็นผลดีกับการท่องเที่ยวเพราะกฏอัยการศึกช่วยประกันว่านักท่องเที่ยวจะได้รับความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

              ก่อนหน้านี้ไม่ถึงเดือนเกิดเหตุนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ชาวอังกฤษชื่อ David Miller วัย 24 ปี และ Hannah Witheridge วัย 23 ปี ถูกสังหารอย่างทารุณตอนเช้ามืดของวันที่ 15 กันยายนที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี

              ผู้จ้องสงสัยชาวพม่าสองคนถูกจำกุม แต่ก็มีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวน นาย David Cameron นายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้แทรกแซงกรณีนี้ในสัปดาห์ที่แล้วผ่านผู้นำการรัฐประหารของไทย พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ว่าควรมีตำรวจอังกฤษเข้ามาช่วยเหลือทางการไทยเกี่ยกับการสอบสวน

              รัฐประหารเมื่อกลางปีนั้นทำขึ้นอย่างรวดเร็ว และไร้ความปราณีนั้นทำให้ไม่เกิดการนองเลือด และความรุนแรง นอกจากมีการประกาศห้ามออกจากบ้านยาววิกาลซึ่งผ่านไปนานแล้ว ผลกระทบด้านนักท่องเที่ยวก็ไม่เกิดมากนัก

              อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากก็ไม่ชอบแนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศหลังจากการรัฐประหาร โดยมองว่าประชาธิปไตย และการแสดงความเห็นอย่างเสรีถูกจำกัดอย่างมาก

              ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวก็ดูจะสิ้นหวัง สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองรายงานว่าระหว่างช่วงเดือนมกราคม ถึงกันยายนนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิมีจำนวนทั้งสิ้น 9.1 ล้านคน ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 11.3 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

สิทธิวัชร ชีวรัตน์ธนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยวได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Nation ว่าการมีกฎอัยการศึกทำให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยชะงักโดยกล่าวว่านักท่องเที่ยวไม่แน่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยขณะที่ยังมีกฎอัยการศึก หนทางเดียวในการทำให้เกิดความมั่นใจดังเดิมคือการยกเลิกกฎอัยการศึก

กฎอัยการศึกได้รับการวิพากย์วิจารณ์อย่างยิ่งจากโครงการรณรงค์ขององค์กรนิรโทษกรรมสากล โดยกล่าวว่า กฎอัยการศึกสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวภายในประเทศ การรับประทานแซนด์วิช และการอ่านนิยายการเมืองเรื่อง George Orwell’s 1984 เป็นตัวอย่างของกิจกรรมการประท้วงของกลุมทางการเมืองที่รัฐบาลทหารมองว่าอยู่นอกกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอย่างชัดเจนว่ายังไม่มีแนวคิดใดๆเกี่ยวกับการยกเลิกกฎอัยการศึก ในขณะเดียวกันรัฐบาลทหารเองก็แสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่นการจัดการกับหาบเร่บนชายหาดที่ไม่ได้รับอนุญาต และจัดทำโครงการขนส่งสาธารณะในราคาที่สมเหตุสมผลในพื้นที่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกควบคุมโดยมาเฟียท้องถิ่นที่เรียกเก็บค่าบริการมากเกินควร

 
แหล่งที่มา: http://www.telegraph.co.uk/expat/expatnews/11173757/Junta-in-Thailand-promoting-martial-law-tourism.html